หน้าแรก สถานที่ท่องเที่ยว คอนโดและอพาร์ทเม้นให้เช่า บ้านให้เช่าชะอำ ให้เช่าพูลวิลล่าที่ชะอำ โรงแรมในชะอำ แผนที่ชะอำ
หน้าแรก

หน้าแรก

สถานที่ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

อพาร์ทเม้นและคอนให้เช่า

เช่าคอนโด

ให้เช่าบ้านชะอำ

บ้านให้เช่า

พูลวิลล่าให้เช่าชะอำ

วิลล่าให้เช่า

โรงแรม

โรงแรม

แผนที่

แผนที่

ท่องเที่ยวราตรีที่ชะอำ ชายหาดชะอำ สภาพอากาศ การคมนาคม แท็กซี่ชะอำ วีดีโอชะอำ ข้อมูลเพิ่มเติม
ยามค่ำคืน
ปาร์ตี้
ชายหาดในชะอำ
ชายหาด
สภาพอากาศปัจจุบัน
อากาศ
การคมนาคม
เดินทาง
แท็กซี่
แท็กซี่

วีดีโอ
วีดีโอ

ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูล

วนอุทยานเขานางพันธุรัต

วนอุทยานแห่งชาติอีกแห่งหนึ่งในอำเภอชะอำ

หนึ่งในสวนสาธารณะที่สวยงามที่สุดในพื้นที่ชะอำเขานางพันธุรัต


full star full star full star full star full star full star full star full star no star no star

เขานางพันธุรัต


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

หลายคนคงเคยได้ยินตำนานพื้นบ้านเรื่องเจ้าเงาะหรือสังข์ทองมาตั้งแต่เด็ก เมื่อไม่นานมานี้ก็มีสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำมาทำเป็นละคร
โดยบอกว่านำเค้าโครงเรื่องมาจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่แฟนพันธ์แท้สังข์ทองหลายคนต่างพูด (บ่น)
เป็นเสียงเดียวกันว่า บทละครดังกล่าวบิดเบือนจากบทพระราชนิพนธ์ดั้งเดิมจนแทบไม่เหลือเค้าโครง

ห่างจากกรุงเทพฯ ไปเพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์
ด้วยเชื่อกันว่า ที่นี่คือต้นกำเนิดเรื่องราววรรณกรรมพื้นบ้าน ซึ่งกลายเป็นที่มาของวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง”


เขานางพันธุรัต



เขานางพันธุรัต

เทือกเขานางพันธุรัตน์ หรือเขาเจ้าลายใหญ่ ณ จ.เพชรบุรี
ภูเขาของพ่อหลวง
พยับเมฆสีเทาครึ้มปกคลุมท้องฟ้าตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่เขาลายใหญ่ หรือเทือกเขานางพันธุรัตน์ในวรรณคดี ก่อนหน้าที่จะมาถึงสถานที่ท่องเที่ยว
เชิงอนุรักษ์ของจ.เพชรบุรีแห่งนี้ เราเคยได้ยินชื่อมาก่อนในฐานะแหล่งทรัพยากรที่สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน จึงมีบริษัทเข้ามาขอสัมปทานขุดเจาะเหมืองในพื้นที่นานนับสิบปี


วนอุทยานนางพันธุรัต

ลักษณะภูเขาสองข้างทางบางลูกที่ขึ้นโดดๆ ผิวหน้าคล้ายถูกระเบิดหรือขุดเจาะเป็นหย่อมๆ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการพังทลายของชั้นหินปูนอย่างชัดเจน
เมื่อเข้าไปสู่เขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขานางพันธุรัต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่องรอยเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยสีเขียว
ของต้นไม้ซึ่งขึ้นอยู่แน่นทึบ บรรยากาศเย็นสดชื่นด้วยอากาศบริสุทธิ์ของผืนป่าต่างจากในเมืองลิบลับ

หากเมื่อสิบสองปีที่แล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มิได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านเทือกเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัตน์)
ทรงทอดพระเนตรเห็นร่องรอยการพังทลายของแท่งหินที่เรียกกันว่า “โกศนางพันธุรัตน์” และมีพระราชดำรัสถามถึงรายละเอียดการระเบิดหินแล้วล่ะก็
ในวันนี้ เทือกเขานางพันธุรัตน์ หรือเขาเจ้าลายใหญ่อาจเหลืออยู่เพียงชื่อ


วนอุทยานแห่งชาติ

โดยในครั้งนั้น พระองค์ท่านได้ทรงรับสั่งว่า “ใครเป็นเจ้าของการระเบิดภูเขา จะขอให้ยกเลิกการระเบิดหินได้ไหม อยากรักษาโกศนางพันธุรัตน์ไว้”
เทือกเขาเจ้าลาย (เขานางพันธุรัตน์) มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีลักษณะทางภูมิทัศน์
สวยงามและมีเอกลักษณ์ มองจากด้านชายฝั่งทะเล จะมีลักษณะคล้ายผู้หญิงนอนหงาย ทอดยาวตามแนวทิศเหนือ – ใต้ โดยมีศีรษะอยู่ด้านทิศใต้
ติดกับเขามันหมู ส่วนด้านบนสุดของเทือกเขา จะมีแท่งหินขนาดใหญ่ยื่นออกมา เรียกว่า “โกศนางพันธุรัตน์” ปัจจุบันได้เกิดการพังถล่มลงมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2537


วนอุทยานแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชดำริแก่ พลโทนิพนธ์ ภารัญนิตย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้นว่าให้อนุรักษ์สภาพภูมิประเทศ
บริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัตน์) เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และให้ฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณที่มีการทรุดตัวของภูเขา
โดยการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการพังทลายในอนาคต รวมทั้งหาหนทางป้องกันมิให้ส่วนอื่นๆ ของเขาเจ้าลายใหญ่เกิดการพังทลายลงมาอีก

ในปีเดียวกันนั้น แผนหารือระหว่างกองทัพกับหน่วยงานป่าไม้เขตเพชรบุรีจึงเกิดขึ้น เพื่อวางแนวทางในการที่จะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัตน์)
ทว่า ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าไปปฏิบัติงาน เนื่องจากบริเวณภูเขาถล่มยังมีหินที่ผุกร่อนกระจายเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก
และพร้อมที่จะร่วงหล่นลงมาได้ตลอดเวลา อันจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าไปดำเนินการฟื้นฟูป่าได้


เขานางพันธุรัต ชะอำ

คณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงได้ร่วมกันกำหนดแผนการฟื้นฟูเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัต) บริเวณที่เกิดการถล่มตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยวิธีลำเลียงดินที่บรรจุใส่ถุงปูนซีเมนต์จำนวน 4,500 ถุง และเมล็ดพันธุ์ไม้ (กระถินยักษ์,สีเสียด,ขี้เหล็ก) จำนวน 235 กิโลกรัม เมล็ดพืชคลุมดิน (ถั่วไมยรา และถั่วฮามาด้า)
จำนวน 100 กิโลกรัม ที่ได้รับการผสมดินแล้ว โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแม่ทัพภาคที่ 1 ลำเลียงไปทิ้งในพื้นที่เป้าหมาย
ส่วนการฟื้นฟูบริเวณโกศนางพันธุรัตซึ่งมีการถล่มลงมาเป็นสีแดง ทรงมีพระราชดำริให้ปล่อยทิ้งไว้โดยอาศัยเวลา เมื่อเจอฝนสีก็จะกลมกลืนเหมือนธรรมชาติ (ให้ธรรมชาติทำงาน)
วิธีการฉีดสารเคมี เพื่อให้หินเปลี่ยนสีมีสภาพเก่าลงเหมือนธรรมชาติ ทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่แปลกดีหากไม่เป็นอันตราย หรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการได้


เขานางพันธุรัต ชะอำ

ทั้งนี้ การฉีดสารเคมีพ่นหินที่อยู่สูงๆ หากทำนั่งร้านขึ้นไปไม่ได้ ทรงแนะนำให้ทดลองนำสารเคมีใส่ถุงพลาสติก หรือห่อกระดาษที่สานแบบตะกร้อและนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์
และทิ้งลงมาทางอากาศ น่าจะเป็นวิธีที่ทำได้ แต่ทรงให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่อาจเกิดอันตรายกับเฮลิคอปเตอร์ได้
ต่อมากรมป่าไม้ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เตรียมจัดตั้งเป็นวนอุทยานต่อไปโดยด่วน เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตน์ (เขาเจ้าลายใหญ่) ไว้เป็นมรดกของชาติ
ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวกับวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศไทยไว้
และพัฒนารักษาเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนต่อไป


วนอุทยานนางพันธุรัต

เปิดตำนานสังข์ทอง : เรื่องราวระหว่างนางยักษ์ที่รับเลี้ยงบุตรของมนุษย์ซึ่งถือกำเนิดจากหอยสังข์ แล้วจบลงด้วยโศกนาฏกรรมกลายเป็นนิทานพื้นบ้าน
วรรณกรรมท้องถิ่นพื้นเมือง และส่วนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในเวลาต่อมา
จากงานวิจัยเรื่อง “สังข์ทอง วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์: การศึกษาเชิงวิเคราะห์และเปรียบเทียบ” ของผศ.นภารัตน์ มณีรัตน์
ระบุว่า สังข์ทอง เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทยทุกเพศทุกวัย และทุกระดับชั้นมาเป็นเวลาช้านาน
ชาวไทยระดับชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าสังข์ทองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบาย
ไว้ในคำนำบทละครนอก เรื่องสังข์ทองพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2508 ว่า
“เรื่องสังข์ทองนี้มีในคัมภีร์ปัญญาสชาดกเรียกว่า สุวัณณสังขชาดก เชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริง พวกชาวเมืองเหนืออ้างกันว่า เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองท้าวสามนต์
ยังมีลานศิลาแลแห่งหนึ่งว่า เป็นสนามคลีของพระสังข์ อยู่ไม่ห่างวัดมหาธาตุนัก (ปัจจุบันมีชื่อว่าวัดพระบรมธาตุ) ในที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุ
ฝาผนังก็เขียนเรื่องสังข์ทอง เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็อ้างว่า
เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามนต์อีกแห่งหนึ่ง” (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 2508: คำนำหน้า ข- ค)


บันไดทางขึ้นเขา

การที่วรรณกรรมเรื่องสังข์ทองได้ฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวบ้านจนทำให้คนเหล่านั้นเชื่ออย่างจริงจังว่าเป็นเรื่องจริงถึงกับมีพยานหลักฐานอ้างอิงเป็นสถานที่นั้น
แสดงว่าวรรณกรรมเรื่องนี้คงจะมีอายุเก่าแก่มากพอสมควร อนึ่งพยานสถานที่ดังกล่าวมิได้อยู่แต่ในจังหวัดเดียวหรือพื้นที่บริเวณเดียว
หากแต่ได้กระจายไปอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั้งเหนือและใต้ ทำให้สรุปได้ว่าความนิยมเรื่องสังข์ทองนี้ ได้แพร่ไปแทบทุกภาคของประเทศไทย
จากลักษณะของเทือกเขานางพันธุรัตน์อันมีรูปลักษณะเหมือนกับผู้หญิงนอนหงาย จึงทำให้กลายเป็นตำนานที่มีความคล้องจองกับวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง
ในหลายจุด จนทำให้เชื่อกันว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นจุดกำเนิดของวรรณคดีเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราพลาดไม่ได้ที่จะไม่ไปเยือนสถานที่แห่งนี้
เป้าหมายของการเดินทางจึงมีจุดหมายที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

ตามตำนานของชาวเพชรได้กล่าวถึง “เขาใหญ่” ซึ่งมีเทือกเขายาวเป็นแนวสลับซับซ้อนโดยเมื่อมองจากทะเลจะเห็นเขาลูกนี้คล้ายกับคนนอนทอดยาวใส่หมวกกุ้ยโล้ย
หันหัวไปทางทิศใต้คล้ายรูปนางยักษ์นอนตาย ในยามดวงอาทิตย์อัศดงแสงสะท้อนกระทบไหล่เขาดูสวยงามยิ่งนักและภูเขาลูกนี้ ยังมีตำนานทางวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง
ซึ่งมีอยู่ 9 ตอน และได้กล่าวถึงนางพันธุรัตน์ในตอนที่ 3 คือตอนนางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์และตอนที่ 4 คือพระสังข์หนีนางพันธุรัตน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์
กับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเขตของอุทยานเขานางพันธุรัตน์ โดยตามตำนานเมืองเพชรนั้น ได้กล่าวไว้ว่านางพันธุรัตน์ได้มาเสียชีวิตที่นี่หลังจากที่อ้อนวอนให้
พระสังข์ลงมาจากยอดเขาเท่าไรๆ ก็ไม่สำเร็จกระทั่งตรอมใจตาย จึงจัดการทำศพที่นี่ชาวบ้านจึงเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขานางพันธุรัตน์” สืบต่อมาจนเท่าทุกวันนี้


วนอุทยานแห่งชาติเขานางพันธุรัต


กระจกนางพันธุรัตน์
จุดแรกที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินขึ้นไปเยี่ยมชมก็คือ กระจกนางพันธุรัตน์ เนื่องจากจุดนี้อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 80 เมตรเท่านั้น
เส้นทางเดินก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะได้มีการจัดทำบันไดไว้อย่างดี ในจุดนี้เป็นจุดที่นางพันธุรัตน์เอาไว้ส่องกระจก เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย
ของตนก่อนที่จะไปพบกับพระสังข์ ว่านางมีร่องรอยของความเป็นยักษ์ อย่างคราบเลือดจากการออกไปหาสัตว์ป่ากินหรือไม่

ลักษณะของกระจกนางพันธุรัตน์จะเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งเมตร สูงประมาณ 2.5 เมตร เราสามารถจะเดินลอดช่องกระจกนี้ไปได้
และจะพบกับจุดชมวิวเล็กๆ แต่ความสวยงามก็ไม่เล็กเท่าพื้นที่ เพราะเราสามารถที่จะมองเห็นเส้นทางในเขตวนอุทยาน
ได้ชัดเจน อีกทั้งยังมองเห็นทุ่งนาของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

บ่อชุบตัวพระสังข์
“บ่อชุบตัวพระสังข์” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระสังข์มาชุบตัวในบ่อทองตามตำนาน สภาพพื้นที่ในบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายกับเป็นหลุมขนาดใหญ่
กว้างประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล ลึกลงไปหลายสิบเมตร เบื้องหน้าคือแนวผาหินล้อมรอบหลุม ส่วนเบื้องล่างเขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้
นานาชนิดที่ขึ้นอยู่เต็มไปหมด แทนที่จะเป็นน้ำหรือว่าทองอย่างในวรรณคดี ในบริเวณนี้นอกจากจะมีบ่อชุบตัวพระสังข์แล้ว ยังมีจุดชมวิวอีก 2 จุดด้วยกัน
จุดแรกอยู่ห่างจากบ่อชุบตัวพระสังข์ไปอีกประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นทะเลได้ แต่ไม่มาก
เพราะเป็นช่องระหว่างยอดเขาสองยอดจึงทำให้มองวิวได้ไม่กว้างมากนัก ถัดขึ้นไปอีกไม่ไกลซักเท่าไหร่ ก็ยังมีจุดชมวิวอีกจุดหนึ่ง
ที่มีความสวยงามเช่นกัน เป็นจุดที่อยู่บนยอดเขายอดหนึ่งในเทือกเขานางพันธุรัตแห่งนี้


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

คอกช้าง
ที่มาของชื่อ “คอกช้าง” แห่งนี้ เนื่องมาจากในอดีตบริเวณด้านล่างของจุดชมวิวแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าบรรดาช้างป่า
นอกจากสภาพป่าที่หนาแน่นด้านล่างแล้ว เรายังสามารถมองวิวได้อย่างเต็มที่ถึงแม้ว่ามุมนี้จะไม่สามารถมองเห็นทะเลก็ตาม
แต่สามารถที่จะมองเห็นได้ไกลถึงเขาวังทีเดียว หากสภาพท้องฟ้าดีๆ อีกทั้งยังเป็นมุมมองที่กว้างเกือบ 180 องศา


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

ลานเกือกแก้ว
ในวรรณคดีเมื่อพระสังข์กลับลงมาจากบ่อต้องห้ามแล้ว ก็ได้เดินสำรวจในบริเวณปราสาทต่อ ได้พบกับรูปเงาะ เกือกแก้ว และไม้เท้า
พอลองสวมดูก็เห็นว่าเข้าท่าดี อีกทั้งเกือกแก้วยังสามารถใช้เหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย จึงคิดวางแผนที่จะหลบหนีจากนางพันธุรัตน์
เพื่อกลับไปหาตายายและพระนางจันเทวีที่เป็นแม่อีกครั้งด้วยความคิดถึง สำหรับลานเกือกแก้วแห่งนี้เป็นลานกว้างระหว่างทางไปยังบ่อชุบตัว
คอกช้าง และจุดท่องเที่ยวจุดอื่นๆ อีก มีลักษณะเป็นลานกว้าง ประมาณ 3 ไร่ เป็นที่ราบระหว่างเขา
มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไม่มากนักส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ก็มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก บางต้นยังเป็นลูกไม้ด้วยซ้ำ สาเหตุที่เรียกว่าลานเกือกแก้ว
เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของผู้หญิง จึงได้ชื่อว่าลานเกือกแก้ว ซึ่งพ้องกับเนื้อเรื่องในวรรณคดีเรื่องนี้ด้วย


วนอุทยานห่งชาติ

ต้นไทรยักษ์
ตามตำนานหลังจากที่พระสังข์เหาะหนีออกมาจากปราสาทแล้วก็มาแวะพักอยู่ใต้ต้นไทร ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเชื่อกันว่าต้นไทรยักษ์เก่าแก่ภายในอุทยานต้น
ดังกล่าวนี้ คือต้นไทรต้นเดียวกันกับในวรรณคดี ซึ่งตามท้องเรื่องเมื่อนางพันธุรัตน์กลับมาถึงพอสอบถามบริวารก็ได้รับคำตอบว่าพระสังข์หนีไปแล้ว
นางเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากรีบพาบริวารออกตามหาพระสังข์จนกระทั่งนางพันธุรัตน์ผ่านต้นไทรก็จำได้ว่าเป็นพระสังข์ จึงร้องเรียกพระสังข์ด้วยความยินดี
ให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอม ไม่ว่านางพันธุรัตน์จะอ้อนวอนอย่างไร จนเห็นว่าพระสังข์คงจะไม่ลงมาแน่นอนแล้ว จึงเขียนมหาจินดามนต์ไว้ให้
ระหว่างที่เขียนมนต์ก็ร้องอ้อนวอนพระสังข์ไปด้วย ถึงแม้ว่าจะเขียนจนเสร็จเรียบร้อยแล้วพระสังข์ก็ยังไม่ยอมลงมา ในที่สุดนางก็อกแตกตาย


วนอุทยานแห่งชาติเขานางพันธุรัต

โบราณสถานทุ่งเศรษฐี
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวตามรอยวรรณคดีแล้ว เทือกเขานางพันธุรัตน์ยังมีโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่เชิงเขาจอมปราสาทด้านทิศตะวันออก
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ ทำให้ทราบรูปแบบของโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเหลือเพียงส่วนฐาน
และค้นพบโบราณวัตถุ จำพวกปูนปั้นและโบราณวัตถุอื่นๆ อีกมาก จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานทุ่งเศรษฐีสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)


วนอุทยานเขานางพันธุรัต


การเดินทาง
สำหรับท่านที่สนใจและอยากจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยพระสังข์ ก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะจากกรุงเทพไม่ไกลมากนัก นั่งรถประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
โดยเดินทางจากกรุงเทพมุ่งหน้ามายังจังหวัดเพชรบุรีมายังชะอำ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางด้วยกัน


เส้นทางแรก คือ จากถนนเพชรเกษม ผ่านวัดนิคมวชิราราม เข้าสู่ถนนสายนิคม (เขื่อนเพชร) - บ้านหนองตาพด ถึงพื้นที่โครงการก็เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
หรืออีกเส้นทางหนึ่งเมื่อเลยแยกบายพาสชะอำ ก่อนเข้าอำเภอชะอำประมาณ 2 กิโลเมตร
จะผ่านทางเข้าบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้เลี้ยวเข้าไป ขับตามทางไปอีกไม่ไกลก็จะถึงวนอุทยานเขานางพันธุรัตน์





คุณเคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่เขานางพันธุรัตหรือไม่?

full star full star full star full star full star full star full star full star no star no star

ขณะนี้ 313
มีผู้เข้าชมเว็บโหวตให้จำนวน7.93 of 10 stars.





แชร์ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวที่วนอุทยานแห่งชาติเขานางพันธุรัตของคุณได้ที่นี่:

  
Cha-Am Facebook
Chaam.info

Cha-Am in Youtube



Cha-Am in English
English Language


ชะอำตั้งอยู่ไม่ไกลหัวหิน ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เพียง 20 นาที
สำหรับใครตที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ วิธีการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ชายหาด ฯลฯ ท่านสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของเรา >> www.Hua-Hin.info >>.


เกี่ยวกับชะอำ


เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ


โรงพยาบาล/คลีนิค


ชายหาดทะเลชะอำ


ร้านอาหาร


ท่องราตรีที่ ชะอำ


นวดแผนไทย สปา


ซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์


ซื้อ-ขายคอนโค/อพาร์ทเม้น


ซื้อ-ขายบ้าน


ซื้อ-ชาย พูลวิลล่า


ซื้อขายที่ดินชะอำ


รีสอร์ท ชะอำ


ชะอำ สปอร์ต วิลเลจ


Tropicana รีสอร์ท ชะอำ


Green Garden Resort


หุบกระพง เขาใหญ่


ข้อเสนอเพิ่มเติม


สักยันต์ เสริมบารมี


วันเดียวก็เที่ยวได้ เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน


นวดแผนไทย


ข้อเสนอเพิ่มเติม


เกี่ยวกับเรา


สอบถาม/ติดต่อ


การป้องกันข้อมูล


ผู้เขียน รูปภาพประกอบ การออกแบบ


ลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย



↑ กลับไปด้านบน ↑